ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งขนาดที่เล็กมากนี้จะสามารถหลุดรอดการกรองของขนจมูก ผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจเข้าไปยังถุงลมฝอยและแทรกซึม ผ่านเข้าไปยังหลอดเลือดฝอย และเข้าสู่กระแสเลือดได้ ทำให้เกิดโรคในหลายระบบต่างๆของร่างกาย
สาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5
- ไฟป่า การเผาขยะ การเผาเพื่อทำการเกษตรในที่โล่ง เช่น การเผาไร่อ้อย เผาวัชพืชต่าง ๆ
- ควันที่เกิดจากการทำอุตสาหกรรมต่าง ๆ และฝุ่นจากการก่อสร้าง
- การขนส่งและคมนาคม เช่น ควันจากท่อไอเสีย การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์
- การผลิตไฟฟ้า เช่น การเผาปิโตรเลียมและถ่านหิน
- กิจวัตรต่าง ๆ ของคน เช่น สูบบุหรี่ การจุดธูปเทียน เผากระดาษ การใช้เครื่องถ่ายเอกสาร
ด้วยขนาดที่เล็กมาก ทำให้ฝุ่นละอองพิษ PM2.5 สามารถถูกสูดเข้าลึกถึงทางเดินหายใจและปอด บางอนุภาคยังอาจเข้าสู่กระแสเลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย
การสัมผัสในระยะสั้น
- ทางเดินหายใจอักเสบ หายใจลำบาก แสบจมูก ไอมีเสมหะ แน่นหน้าอก ถุงลมแฟบ สมรรถภาพปอดลดลง ภูมิแพ้และหืดกำเริบ
- ทำลายภูมิคุ้มกัน เกิดการติดเชื้อในปอด และทางเดินหายใจได้ง่าย เช่น ไข้หวัดใหญ่, หลอดลมอักเสบ, หูอักเสบ
- พัฒนาการเด็กล่าช้า
- ผลต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้มีบุตรยาก
การสัมผัสในระยะยาว
- โรคมะเร็งปอด
- การอักเสบของเส้นเลือด อาจเกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาตจากหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
- โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง
- โรคทางผิวหนังหรือตาอักเสบ
- ผิวมีจุดด่างดำและรอยย่น ดูแก่กว่าวัย
กลุ่มเสี่ยงอันตรายจากฝุ่นพิษ
เด็ก อาจกล่าวได้ว่ายิ่งอายุน้อย ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากเด็กเล็กมีภูมิคุ้มกันโรคน้อยกว่าผู้ใหญ่ อวัยวะต่างๆ ในร่างกายยังอยู่ในระยะที่กำลังพัฒนา ทั้งนี้ฝุ่นพิษในอากาศที่สามารถเข้าสู่ระทางเดินหายใจและกระแสเลือดได้ง่ายจะไปขัดขวางการเจริญเติบโตของระบบต่างๆ หรือทำให้เกิดโรคร้ายแรงในที่สุด
หญิงมีครรภ์ นอกจากภัยร้ายส่งผลต่อตัวคุณแม่ตั้งครรภ์ที่สูดฝุ่นละอองโดยตรงแล้ว ทารกในครรภ์ยังเป็นอันตรายด้วยเช่นกัน มีการศึกษาพบว่ามลพิษในอากาศมีผลต่อการคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงแท้งบุตร และเพิ่มอัตราการตายของทารกในครรภ์ได้
ผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะเริ่มเสื่อมถอย ระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกายลดลง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลงดลง หากต้องเผชิญกับฝุ่นละออง อาจมีแนวโน้มเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหอบหืด โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญฝุ่นพิษให้มากที่สุด
ผู้ป่วยหรือมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคปอด และโรคหัวใจชนิดต่างๆ การสูดฝุ่นผงเข้าสู่ร่างกายโดยตรงส่งผลให้โรคกำเริบ อาจถึงกับชีวิตได้
การป้องกัน
- ติดตามรายงานสภาพอากาศและระดับ PM 5 อย่างสม่ำเสมอ
- ในบ้านหรืออาคารควรใช้เครื่องฟอกอากาศที่สามารถกรองฝุ่น PM 5 ได้
- สวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือสวมหน้ากาก N95 เมื่อต้องออกจากบ้านหรืออาคาร
- สวมแว่นกันลม กันฝุ่น สวมเสื้อแขนยาวมิดชิด
- ลดเวลาการอยู่นอกบ้าน/อาคาร โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อ PM 5 สูง เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ คนชรา ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคภูมิแพ้ โรคปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตเรื้อรัง
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง
ทั้งนี้การใส่หน้ากากให้ได้ประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ต้องใส่ให้ถูกวิธีและกระชับกับใบหน้าของผู้สวมใส่ด้วย
ขอบคุณที่มา : สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข